Video-Slider

ปฏิรูปประเทศไทย

“การปฏิรูป” เป็นกระแสหลักของภารกิจระดับชาติของประเทศไทยมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ครอบคลุมถึงการพัฒนาการเมืองจนนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สมัยนายกบรรหาร ศิลปอาชา การปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 สมัยนายกทักษิณ ชินวัตร การจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยของประชาชนผ่านกลไกองค์กรที่ชื่อว่า “สำนักงานปฏิรูป (สปร.)” ระหว่าง พ.ศ. 2553-กลาง พ.ศ. 2556 ที่มีสืบเนื่องมาในสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กระแสปฏิรูปล่าสุดที่กลายเป็นกระแสอันเชี่ยวกรากในขณะนี้นั้น นับได้จากการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การปฏิเสธการเข้าร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยการเรียกร้องอย่างคู่ขนานให้มีการปฏิรูปประเทศไทยของขบวนการภาคประชาชน การโต้ตอบรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นอกสภาต่อกรณี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การโหมกระหน่ำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (หรือ กปปส. ภายใต้การนำของอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และการสมทบกับแกนนำอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ องค์กรในเครือข่าย) การยุบสภาของรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และการเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่สะสมกันๆจนทำให้ภาคส่วนต่างๆในสังคม รวมทั้งพรรคการเมืองที่จะแข่งกันในสนามเลือกตั้ง ร่วมขับขานร้องเพลงการปฏิรูปดังกระหึ่มทั่วประเทศไปด้วยในขณะนี้

พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย

พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย
การปฏิรูปตนเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งส่วนตนและผลต่อส่วนรวมควรเกิดขึ้นอย่างน้อยกับสถาบันและองค์การของชาติต่อไปนี้ คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน สถาบันทางการเมือง (เช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง) องค์การศาล หน่วยงานราชการและกองทัพ องค์การอิสระที่รัฐธรรมนูญกำหนดและนอกเหนือจากนั้น องค์การของนายทุนและนักธุรกิจ (เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมนายธนาคารแห่งประเทศไทย และ สภาองค์การนายจ้าง) สภาแรงงาน (องค์การระดับชาติของสหภาพแรงงาน) สภาองค์กรมชุมชน คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (องค์การระดับชาติขององค์การพัฒนาเอกชน) สภาองค์การวิชาชีพต่างๆ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สันนิบาตหรือสมาคมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ องค์การของนักศึกษา และสมาคมของประชาชน นักวิชาการ และ นักธุรกิจทั้งหลาย

สรุปและบทส่งท้ายการปฏิรูปประเทศไทย

วิถีการปฏิรูปเป็นวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสันติ แต่เราควรมีความชัดเจนในเชิงหลักคิดกันพอสมควรตั้งแต่นิยาม กลยุทธ์ และทางเลือกการจัดการ ข้อเสนอของข้าพเจ้าข้างต้นนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง โดยเน้นที่การออกแบบและกำหนดหน้าที่ขององค์กรการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปตนเองและส่วนรวมพร้อมกันไป ส่วนใครจะเข้ามาบ้างก็จะเป็นเรื่องที่ควรจะตามมา และเรายังควรนำเอาประสบการณ์ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในคราวรัฐบาลชุดก่อนมาเรียนรู้ด้วย ทั้งในเชิงลักษณะองค์กร การจัดการ จุดอ่อนและจุดแข็ง ความสำเร็จและไม่สำเร็จผล รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อาทิ ทำไมการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นจริง

การปฏิรูปเพื่อส่วนรวมจริงๆ คงไปไม่ได้ไกล หากขาดเสียซึ่งการสารภาพและวิพากษ์วิจารณ์ตนเองหรือต่อกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆของตนเองและของประเทศให้เหมาะสมที่สุด กล่าวคือ การวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเพื่อการปฏิรูปส่วนตนขององคาพยพทั้งหลาย หรือสถาบันต่างๆที่มีผลผลิตและผลกระทบต่อกันและกันจนเป็นสภาพร่วมของสังคมนั้นควรจะมีอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นสถาบันหรือองค์การสำคัญๆของชาติทั้งหลายก็จะล้าสมัยและอาจเป็นตัวถ่วงรั้งความก้าวหน้าของสังคมโดยรวมไปด้วย (ดังเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเริ่มต้นปฏิรูปตนเองแล้วในขณะนี้ และย่อมส่งผลกระทบถึงการเมืองไทยและเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมไปด้วย นับเป็นการกระทำที่สมควรให้รางวัล) และการจัดตั้งขบวนการปฏิรูปของภาคประชาชนกันเองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอทางเลือกการปฏิรูปต่างๆต่อสาธารณะหรือต่อรัฐบาลที่มีในขณะนี้ คงจะช่วยให้การปฏิรูปอย่างเป็นทางการของรัฐบาลได้ประโยชน์ไม่น้อย